วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ไขมันในร่างกาย

 

    ไขมันในร่างกายประกอบด้วย ไขมันในหลอดเลือด ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง

    ไขมันเหล่านี้มาจากไหนไขมันในร่างกายมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ จากอาหารที่บริโภคและ จากการที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง ไขมันจะถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน นำไปสร้างฮอร์โมน นำไปสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในการดูดซึมอาหารไขมัน และ ใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างเนื้อเยื่อของเซลล์

    ไขมันในเลือด อยู่ในรูปไลโปโปรตีน คือ เป็นสารประกอบของไขมันและโปรตีน ซึ่งไลโปโปรตีนที่อยู่ในเลือดสามารถผสมเข้ากันกับส่วนประกอบต่างๆของเลือดได้ ส่วนของไขมันไลโปโปรตีนมีทั้งที่เป็น โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟลิปิด และ กรดไขมันอิสระ ไขมันแต่ละชนิดมีหน้าที่ต่างๆกัน คือ โคเลสเตอรอลเป็นไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ และได้รับจากอาหารที่รับประทาน ไขมันชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นที่นำไปสร้างน้ำดี เพื่อช่วยในการดูดซึมอาหารไขมันและใช้สร้างฮอร์โมนบางชนิด ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้และได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไปโดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง หรืออาหารที่มีรสหวาน ไขมันชนิดนี้เป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายสะสมไว้ใช้ ฟอสโฟลิปิดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ ส่วนกรดไขมันอิสระเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย

    ไลโปโปรตีนแบ่งตามความหนาแน่นของโมเลกุลได้เป็นหลายชนิด แต่ที่เรารู้จักกันดี คือแอลดีแอล (Low density lipoprotein – LDL) เป็น ไลโปโปรตีนที่มีโคเลสเตอรอลประกอบอยู่ถึง 60% ไลโปโปรตีนชนิดนี้จึงมีหน้าที่นำเอาโคเลสเตอรอลไปยังเซลล์ที่ต้องการใช้โคเลสเตอรอล แต่หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูงจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และหากมีโรคเบาหวานหรือมีโรคหัวใจร่วมด้วยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น

    วีแอลดีแอล (Very low density lipoprotein – VLDL) เป็น ไลโปโปรตีนที่สร้างจากตับประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ 45-60% จึงมีหน้าที่นำไตรกลีเซอไรด์ไปเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเอมซัยม์ LPL จะสลาย ไตรกลีเซอไรด์ใน VLDL ให้เป็นกรดไขมันอิสระที่พร้อมจะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ภาวะ VLDL ในเลือดสูงก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน

    เอชดีแอล (High density lipoprotein – HDL) เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย มีหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดหรือที่เนื้อเยื่ออื่นๆไปทำลายที่ตับ ดังนั้นถ้าระดับ HDL ในเลือดสูง จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง การออกกำลังกายทำให้ค่า HDL ในเลือดเพิ่มมากขึ้นได้

    จะเห็นได้ว่าร่างกายมีทั้งกระบวนการสร้างและย่อยสลายไขมัน ตลอดจนกระบวนการนำไขมันที่สะสมในบริเวณที่ไม่สมควรกลับเข้าสู่ตับ แต่ภาวะไขมันในเลือดสูงก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ปัจจุบันภาวะไขมันในเลือดสูงจัดเป็นหนึ่งภาวะของกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome ซึ่งประกอบด้วย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และ ภาวะไขมันในเลือดสูง) ฉะนั้นคนอ้วน (สตรีที่มีเส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ80 เซนตเมตร และผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวมากกวาหรือ เท่ากับ 90เซนติเมตร) ก็น่าจะมีโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้มากกว่า ทั้งนี้เพราะไขมันในช่องท้องจะทำให้เกิดกลไกการเผาผลาญน้ำตาลที่ผิดปกติมากกว่าไขมันที่กระจายอยู่บริเวณอื่นในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น และเมื่อเป็นโรคเบาหวานก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย

    ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง เกิดจากการสะสมของน้ำตาลที่แปรสภาพเป็นไขมัน แล้วไปเกาะอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย หรือที่เห็นเป็นชั้นหนา ๆของไขมันบริเวณหน้าท้องนั่นเอง ไขมันชั้นนี้ไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงมากนัก เพราะเป็นไขมันที่สามารถกำจัดได้ง่ายกว่าไขมันในส่วนอื่น

    ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) ก็เป็นไขมันใต้ชั้นผิวหนังเช่นกัน เกิดจากการสะสมตัวของสารอาหารประเภทไขมันในอาหารที่ร่างกายเผาผลาญเป็นพลังงานไม่หมด ทำให้ไปเกาะอยู่ตามบริเวณระหว่างกล้ามเนื้อท้องกับอวัยวะภายในช่องท้องในลักษณะแทรกตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อของเซลล์ต่าง ๆ ฉะนั้นเมื่อมองจากภายนอกแล้วเห็นเป็นหน้าท้องยื่นออกมา แต่ถ้าหากลองอัลตร้าซาวด์ดูจะพบว่าอวัยวะภายในถูกห่อหุ้มไว้ด้วยถุงไขมันสีเหลือง ไขมันในช่องท้องเป็นไขมันที่อันตรายมากเมื่อเทียบกับไขมันบริเวณอื่นของร่างกาย เพราะไขมันชนิดนี้จะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ สามารถละลายเข้าสู่กระแสเลือดไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ ดังเช่นการไปสะสมที่ตับจนเกิดภาวะไขมันพอกตับ เป็นต้น นอกจากนี้ไขมันในช่องท้อง ยังเผาผลาญออกให้หมดยากกว่าไขมันในบริเวณอื่นด้วย ผลเสียที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งคือกรดไขมันอิสระในกระแสเลือดที่เพิ่มขึ้นจะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง

    จากชนิดต่างๆของไขมันจะเห็นได้ว่า การที่จะบอกว่าคนๆหนึ่งผอมหรืออ้วน ประเมินจากการสะสมของไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง แต่การจะบอกว่าคนๆหนึ่งมีไขมันในเลือดสูงหรือไม่นั้น ไม่สามารถประเมินด้วยตาเปล่า ต้องรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบว่ามีไขมันในเลือดสูงหรือไม่

นั่นคือ คนผอม หุ่นดีก็มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน

ที่มา :http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=1670

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น